TOP

เรียนฟิสิกส์ไปทำไม ?

………….ผมมักจะต้องคอยตอบคำถามที่ว่า “เรียนฟิสิกส์ไปทำไม?  เรียนไปแล้วไม่เห็นจะเอาไปใช้อะไรได้เลย, ในชีวิตจริงใครจะมานั่งคำนวณ ว่าเมื่อไหร่ก้อนหินจะตกถึงพื้น หรือตกถึงพื้นด้วยความเร็วเท่าไร” ก่อนจะตอบคำถาม ผมมักจะถามเขาก่อนว่ารู้จักฟิสิกส์มากน้อยแค่ไหน และต้องอธิบายให้เขาเข้าใจก่อนว่า ฟิสิกส์คืออะไร? “ฟิสิกส์ คือการศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เช่น ทำไมดวงอาทิตย์ต้องขึ้นทางทิศตะวันออก ลมมาจากไหน ทำไมนกถึงบินได้” ถ้าเราไม่เรียนฟิสิกส์ เราก็จะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ แล้วเราก็จะถูกคนหลอกได้ง่าย โดยใช้สิ่งที่เราไม่รู้มาหลอกเรา อย่างเช่น ราหูอมจันทร์ คนเฒ่าคนแก่มักจะบอกว่า ให้ ตีเกราะ เคาะกะลา จุดประทัด เพื่อทำให้พระราหูตกใจกลัว จะได้คายพระจันทร์ แล้วหนีไป
………….การเรียนฟิสิกส์จริงๆ แล้วเราเรียนไปเพื่ออะไร? เราเรียนไปเพื่อจะได้อธิบายสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้ เช่นเราเรียนเรื่องการเคลื่อนที่แนวดิ่ง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าทำไมก้อนหินจึงตกจากด้านบนลงไปด้านล่าง ทำไมไม่ลอยขึ้นด้านบน ทำไมโยนขึ้นไปแล้วยังตกลงมาได้อีก คำตอบของคำถามเหล่านี้คือ เกิดจากการที่โลกมีมวลขนาดใหญ่มาก จึงมีแรงซึ่งขึ้นอยู่กับมวล ยิ่งมวลมาก แรกที่กระทำต่อกันก็จะยิ่งมาก แรงนี้ก็จะดึงให้วัตถุตกกลับมาที่โลก ซึ่งก็เป็นแรงเดียวกับ แรงที่ดึงให้ดวงจันทร์โคจรอยู่รอบๆ โลกได้ ซึ่งยิ่งหากออกไปแรงก็น้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใกล้เข้ามาแรงก็จะมากขึ้น จะเห็นว่าถ้าเราอธิบายเป็นคำพูดสั้นๆ 2-3 บรรทัดแบบนี้ เราก็จะเข้าใจได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น นักฟิสิกส์จึงต้องเขียนสมการขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ให้ดูง่ายขึ้น และเข้าใจได้แม้ว่าจะใช้ภาษาต่างกันทั่วโลก สมการที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้ก็คือ
………….จะเห็นว่าเราใช้สมการแค่ไม่กี่ตัวแทนข้อความหลายบรรทัดได้ ซึ่งถ้าเราเรียนฟิสิกส์เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าสมการนี้บอกอะไรได้บ้าง แต่เวลาที่เราเรียนในห้องเรียน ครู-อาจารย์ส่วนใหญ่มักสอนให้คำนวณ อะไรมากมาย ซึ่งไม่ใช่การเรียนฟิสิกส์ที่แท้จริง เป็นแค่การฝึกให้เราคิด ใช้เหตุผล ในการแก้ปัญหา โดยใช้ปรากฏการณ์ในทางฟิสิกส์ มาเป็นตัวอย่างเท่านั้น และในการสอบเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ก็ออกข้อสอบให้เราต้องคำนวณ ครู-อาจารย์ก็เลยต้องสอนเน้นไปทางการคำนวณ ซึ่งในการเรียนระดับที่สูงขึ้น จำเป็นต้องนำสมการมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และเป็นสากล ดังตัวอย่างที่ได้อธิบายไว้ด้านบน เราจึงต้องรู้จักสมการต่างๆ มากมายในวิชาฟิสิกส์
 ………….สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ต้องการเรียน หรือทำงานสายวิทยาศาสตร์แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเรียน สมการหรือคำนวณมากมายขนาดนั้นก็ได้ เพราะการเรียนฟิสิกส์จริงๆ แล้วเราเรียนเพื่ออธิบาย และเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ซึ่งทุกอย่างล้วนมีเหตุผลในการเกิดขึ้น และสามารถอธิบายได้ เช่นการเกิดรุ้งก่อนหรือหลังฝนตก ก็ไม่ได้มีเทวดาที่ไหนสร้างขึ้น และไม่สามารถเดินตามสายรุ้งขึ้นไปบนสวรรค์ได้ มันเป็นเพียงแต่แสงที่ส่องผ่านละอองน้ำแล้วเกิดการหักเห มุมที่ต่างกันทำให้แสงเกิดการหักเหออกมาเป็นสีที่ต่างกัน เหมือนที่เราเคยเรียนว่าถ้าให้แสงผ่านแท่งแก้ว จะเกิดแสงออกมาเป็นสีรุ้งนั่นเอง ซึ่งเราสามารถสร้างรุ้งกินน้ำ ที่บ้านก็ได้ ลองไปเอาที่ฉีดน้ำรีดผ้า ไปพ่นบริเวณที่มีแสงแดด ก็จะเกิดรุ้งกินน้ำได้เช่นเดียวกัน ไม่ต้องรอให้เทวดาสร้าง  การเกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือฟ้าแลบ ก็ไม่ได้เกิดจากเมขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน แต่อย่างใด แต่เราสามารถอธิบายได้ตามหลักการ และกฎของธรรมชาติ นั่งก็คือวิชาฟิสิกส์นั่นเอง
 ………….นอกจากนี้เราสามารถนำความรู้ทางฟิสิกส์ไปใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกที่ควรได้มากมาย หรืออธิบายได้ว่าทำไมรถที่ชนกัน ส่วนใหญ่รถที่พังยับเยินคนกับไม่เป็นอะไรเลย ส่วนรถที่ดูเหมือนจะไม่มีความเสียหายมากมาย คนกับบาดเจ็บสาหัส สิ่งนี้ก็นำไปสู่การเลือกซื้อรถว่าเราควรซื้อรถที่ทำจากวัสดุที่ถ้าเกิดการชนแล้วรถยุบตัวรับแรงกระแทกแทนตัวเราได้ดี หรือการติดกันชนที่เป็นโลหะที่ยุบตัวได้ ดีกว่ารถที่แข็งแรงชนแล้วก็ไม่เป็นไร แต่แรงกระแทกจะถูกส่งมาที่ตัวคนขับจนบาดเจ็บสาหัส เป็นต้น
………….อีกคำถามคือ ผีมีจริงหรือไม่? ถ้าใครเชื่อว่าผีมีจริงลองหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้มักจะมาพร้อมกับเรื่องนรก-สวรรค์ และที่แน่ๆ คือนรกไม่ได้อยู่ใต้ผิวโลก และสวรรค์ก็ไม่ได้อยู่บนก้อนเมฆ ถ้าคนตายแล้วเป็นวิญญาณ สิ่งมีชิวิตอื่น เช่น สุนัข แมว มด ยุง แบคทีเรีย พืช จะมีวิญญาณด้วยหรือไม่ ในเมื่อตอนนี้เรารู้ และพิสูจน์ได้แล้วว่าสิ่งมีชิวิตบนโลก มีจุดกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวชนิดหนึ่ง แล้ววิวัฒนาการแยกสายพันธุ์ออกมาเป็นชนิดต่างๆ หรือสามารถพูดได้ว่า บรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดก็คือแบคทีเรียตัวหนึ่งเท่านั้นเอง
………….สรุปว่า เราเรียนฟิสิกส์ไปเพื่อจะได้รู้ว่า สิ่งนั้นๆ หรือปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีอยู่ได้อย่างไร และหายไปได้อย่างไร ไม่ใช่เรียนเพื่อจะได้คำนวณหาค่าตัวเลขออกมาเท่านั้น

Read More